12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ

วันที่ ๑๒ สิงหาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ 
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙

 

พระราชประวัติ
          
เสด็จพระราชสมภพ เมื่อ วันศุกร์ ที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ บ้านของพลเอกเจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (ม.ร.ว.สท้าน สนิทวงศ์) และท้าววนิดาพิจาริณี บิดาและมารดาของหม่อมหลวงบัว กิติยากร ตั้งอยู่ที่ ๑๘๐๘ ถนนพระรามที่ ๖ อำเภอปทุมวัน จ.พระนคร ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "สิริกิติ์" มีความหมายว่า "ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร" สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระภาดา (พี่ชาย) ๒ องค์ และพระขนิษฐภคินี (น้องสาว) ๑ องค์ ดังนี้

๑.หม่อมราชวงศ์ กัลยาณกิติ์ กิติยากร 
๒.หม่อมราชวงศ์ อดุลยกิติ์ กิติยากร 
๓.หม่อมราชวงศ์หญิง บุษบา กิติยากร 

           ในระหว่างยังทรงพระเยาว์ สถานการณ์บ้านเมืองไม่สู้สงบนัก เนื่องจากเพิ่งพ้นจากช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ขณะที่หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ มีอายุเพียง ๑ ขวบ ก็ต้องอยู่ไกลจากพระบิดามารดาโดยได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปประทับอยู่ที่จังหวัดสงขลา เมื่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคลทรงลาออกจากราชการและกลับมาจากวอชิงตัน ดี.ซี.

          ปลายปี พ.ศ. 2477 หม่อมเจ้านักขัตรมงคลทรงลาออกจากราชการแล้วกลับมาประเทศไทย จึงทำให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 2 ชันษา 6 เดือน ได้กลับมาอยู่รวมพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว ณ ตำหนักในวังเทเวศร์ บริเวณถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

การศึกษา
          
พ.ศ. 2479 เมื่อหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ ทรงมีอายุได้ 4 ชันษา ก็ได้เข้ารับการศึกษาครั้งแรกในชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ทว่าในขณะนั้น แม้เหตุการณ์ด้านการเมืองภายในประเทศไทยจะสงบลง แต่สถานการณ์ระหว่างประเทศก็ไม่สงบ กล่าวคือ สงครามมหาเอเชียบูรพาเริ่มแผ่ขยายมาถึงประเทศไทย กรุงเทพมหานครถูกโจมตีทางอากาศหลายครั้งจนการคมนาคมไม่สะดวก พระบิดาจึงให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เพราะอยู่ใกล้วังพระบิดา ได้เรียนที่นั่นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จนถึงชั้นมัธยมศึกษา หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ได้เริ่มเรียนเปียโน ซึ่งเรียนได้ดีและเร็วเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสซึ่งทรงสันทัดเช่นกัน

          
          พ.ศ. ๒๔๘๙ ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงหม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องเสด็จไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำ สำนักเซนต์ เยมส์ ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้โดยได้ทรงพาครอบครัว ทั้งหมดไปอยู่ด้วย ในเวลานั้น หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ มีอายุได้ ๑๓ ปีเศษ และเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ แล้ว

          ในประเทศอังกฤษหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ได้ศึกษาต่อทั้งวิชาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และวิชาเปียโนกับครูพิเศษหลังจากนั้นไม่นานพระบิดาย้ายไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศเดนมาร์กและประเทศ ฝรั่งเศส ตามลำดับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็ยังคงเรียนเปียโน และตั้งใจจะศึกษาต่อในวิทยาลัย การดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส  

ทรงหมั้น
          วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งโดยมี หม่อมหลวงบัวและหม่อมราชวงศ์ หญิงสิริกิติ์ เข้าเฝ้าฯ ถวายการพยาบาลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และในช่วงระยะเวลาที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่เฝ้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พระนามในเวลานั้น) ได้ทรงรับเป็นธุระจัดการให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เข้าศึกษาในโรงเรียน Pensionnat Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งของโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
          
          ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหายจากอาการประชวรแล้วก็ได้ทรงหมั้น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นการภายในเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ หลังจากทรงหมั้นแล้ว หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ยังคงศึกษาต่อ กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครเพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระองค์ท่านโปรดฯให้หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ตามเสด็จพระราชดำเนินกลับมาด้วย

อภิเษกสมรส
          
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงสายสะพายนพรัตน์ราช วราภรณ์เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดการ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ณ วังสระปทุม และโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

          หลังจากครองราชย์สมบัติอย่างกะทันหัน พระบาทสมเด็จพระหัวอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธี บรมราชาภิเษกขึ้นในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ และโปรดฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ กลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงรักษาพระองค์ และทรงศึกษาต่อ แล้วเสด็จฯ กลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๙๕

พระราชโอรส - พระราชธิดา

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชโอรส และพระราชธิดา ๔ พระองค์ ดังนี้

๑.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติ ณ สถานพยาบาลมองซัวซี นครโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔ ต่อมา ได้ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ (ปัจจุบัน ทรงพระนามว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริโสภาพรรณวดี)เพื่อสมรสกับนายปีเตอร์ เลด เจนเซ่น ชาวอเมริกัน ทรงมีพระโอรส ๑ องค์ และพระธิดา ๒ องค์

๒.สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักราดิศรสันตติวงศ์ เทเวศรธำรงสุรบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดชภูมิพลนเรศวรางกูร กิติสิริสมบูรณ์ สวางควัฒน์บรมขัตติยราชกุมาร ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๙๕ ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมุฏราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕

๓.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ต่อมาทรงได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐

๔.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ ๔ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ทรงอภิเษกสมรสกับเรืออากาศโท(ยศในขณะนั้น) วีระยุทธ ดิษยะศริน ทรงมีพระธิดา ๒ พระองค์

สำเร็จราชการแทนพระองค์
          
เมื่อ พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ ออกผนวชเป็นพระภิกษุระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน เป็นระยะเวลา 15 วัน จึงต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนั้นพระองค์ทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถในอันที่จะรับพระราชภารกิจในคราวนี้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ผนวช

          ต่อมา ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมปีเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการประกาศว่า ตามราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เคยมีประกาศให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ผนวช และได้ปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์ด้วยพระปรีชาสามารถ สนองพระราชประสงค์เป็นที่เรียบร้อย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

พระราชนิพนธ์
          
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บันทึก เรื่อง "ความทรงจำในการตามเสด็จต่าง ประเทศทางราชการ" เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นพระราชนิพนธ์ที่ คนไทยควรจะได้อ่าน และตระหนักถึง พระปรีชาสามารถ ในด้านอักษรของพระองค์ท่านอีกอย่างหนึ่งด้วย

            ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม ปวงชนชาวไทยทั้งภาครัฐบาลและเอกชนจึงได้ร่วมกัน กำหนดให้วันที่ ๑๒ สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันแม่แห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นต้นมา เพื่อเป็น ที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระองค์ท่าน และเป็นการสำนึกถึงคุณของแม่ไปพร้อมด้วย ด้วยนับถือกันทั่วไปว่า พระองค์เปรียบประดุจแม่ของปวงชนชาวไทยทั้งปวง เคียงข้างพ่อของชาวไทย นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสมอมา

พระราชกรณียกิจ
          
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้แสดงถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทรงบำเพ็ญ พระราชกรณียกิจ เพื่อทำนุบำรุงราชอาณาจักรและมรดกวัฒนธรรมไทย ที่บรรพบุรุษได้สร้างสมไว้จนตกทอดมาถึงอนุชนไทยรุ่นหลัง ทรงอุทิศ พระปัญญา พระวรกายและพระราชทรัพย์ด้วยพระวิริยะ อุตสาหะอย่างยิ่งในการทำนุบำรุงชาวไทยให้อยู่ดีกินดี ทรงเข้าพระทัยปัญหาพื้นฐานของทุกท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นสาเหตุทำให้ประชาชนต้องมีชีวิตที่ขัดสน ทรงตระหนักว่าความยากจน หากมิได้มีการเยียวยาย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว จึงทรงปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะสงเคราะห์ให้พ้นจากสภาพความยากจน ความเจ็บไข้ ความไม่รู้โดยช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ให้สูงขึ้น ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ด้วยเหตุนี้ จึงได้ก่อให้เกิดโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อปวงประชาขึ้นในแต่ละพื้นที่ของประเทศอยางกว้างขวางหลายโครงการและหลายรูปแบบ

          อย่างไรก็ตามโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเอาพระทัยใส่เป็นพิเศษ ได้แก่

โครงการัฒนาพื้นที่ครอบคลุมลักษณะงาน ๔ ประการคือ
๑. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๒. การศึกษา
๓. สาธารณสุข
๔. ศิลปวัฒนธรรม

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีสายพระเนตรกว้างไกลทรงเล็งเห็นคุณค่าของ ธรรมชาติที่มีความสำคัญ ต่อชีวิตมนุษย์ที่นับวันจะยิ่งเสื่อมโทรมลง อีกทั้งทรงตระหนักดีว่าสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศที่กําลังถูกทําลายลงอย่างน่าเป็นห่วง เกิดจากการนําเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย ไร้ขอบเขต และขาดความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการกำรงชีวิตของราษฎรและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงไดทรงพยายามที่จะให้ราษฎรมีความผูกพันในธธรรมชาติและทรัพยากรต่างๆ เช่น พืช ป่าไม้และสัตว์ป่า ดังนั้น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้นมากมาย อาทิ โครงการป่ารักน้ำ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ โครงการพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต โครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวง จังหวัดเลย โครงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าสวนป่าพระนามาภิไธย จังหวัดสงขลาและสตูล โครงการศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ป่าจากพระราชดำริ การอนุรักษ์สัตว์น้ำ เป็นต้น 

          นอกจากนี้โครงการเนื่องในพระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังมีอีกมากมายหลายโครงการ

          จึงเห็นได้ว่าพระองค์ท่านทรงเป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำคัญยิ่งพระองค์หนึ่ง ที่ชาวโลกยกย่องและสดุดีดีพระเกียรติคุณ 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับการศึกษา

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงใฝ่พระราชหฤทัยในการเรียนรู้มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงช่างซัก ช่างถาม ช่างจดจำ ด้วยพระปรีชาสามารถปราดเปรื่องประกอบกับพระบิดาทรงเป็นผู้รอบรู้ในวิชาการต่างๆ ทั้งทางการทหาร การเมือง อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์และปรัชญา จึงทรงถ่ายทอดความรู้ความคิดที่กว้างขวางแก่บุตรี

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นอย่างมาก ทรงสนพระราชหฤทัยในการศึกษาหาความรู้ทรงพระราชดำริ ริเริ่มเรื่องต่างๆ อยู่ตลอดเวลา พระองคทรงศึกษาด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การอ่าน การเรียน และสนทนากับผู้รู้ การฟังและทอดพระเนตรสิ่งต่างๆ หนังสือที่ทรงอ่านมีหลายประเภท ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ อาทิ หนังสือพิมพ์ หนังสือความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับธรรมะ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี นอกจากนี้ทรงศึกษาด้วยการสังเกตจากของจริงและทรงใช้พระราชวิจารณญาณพิจารณาเหตุผลและความเป็นไปได้ เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ ทรงเห็นคุณค่าและโปรดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นนักอ่าน เมื่อทรงอ่านพบสิ่งที่น่าสนใจซึ่งเป็น ประโยชน์แก่ผู้ใดก็มีพระราชกระแสให้จัดหาหนังสือเหล่าน้ัน หรือทรงอ่านบันทึกลงในแถบบันทึกเสียง ถ้าเป็นภาษาต่างประเทศก็มีพระราชเสาวนีย์ให้มีการแปล เมื่อได้ทอดพระเนตรและทรงตรวจดูแล้ว เห็นสมควรจะพระราชทานไปยังที่ใด ก็มีพระราชเสาวนีย์ให้ข้าราชบริพารดำเนินการสนองพระราชประสงค์ ทรงเป็นนักเขียน เช่น เมื่อเจริญพระชนมพรรษา ๓๖ พรรษา ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่อง ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ และพระราชทานหนังสือแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ในงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงพระราชทานพระราชดำรัสแก่นักเขียนว่า "นักเขียนควรต้องค้ำจุนความจริง"
ทรงเป็น "ครู" ที่ดี
ทรงเป็นนักบริหารการศึกษาที่ดี
พระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันการศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษา
พระมหากรุณาธิคุณต่อการศึกษาในระบบโรงเรียน
พระมหากรุณาธิคุณต่อการศึกษานอกระบบ
ทรงส่งเสริมให้ราษฎรศึกษาด้วยตนเอง ณ "ศาลารวมใจ"

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับการสาธารณสุข

          ...ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องสุขภาพอนามัยนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ดังคำกล่าวที่ว่า "จิตใจที่แจ่มใสย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง" หากประชาชนมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ ไม่เจ็บไข้ได้ ป่วย ก็จะมีสติปัญญาเล่าเรียน ประกอบสัมมาอาชีพ สร้างสรรค์ความเจริญต่างๆ ให้บ้านเมือง ดังนั้น ถ้าจะกล่าวว่า "พลเมืองที่แข็งแรงย่อมสามารถสร้างชาติที่มั่นคง" ก็คงจะไม่ผิด... (จากหนังสือสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาา ศาสนา และสาธารณสุข)
          พระราชดำรัสตอนหนึ่งของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา
ปีพ.ศ. ๒๕๓๑ ณ ศาลาดุสิดาลัย เป็นคำอธิบายได้อย่างชัดแจ้งถึงเหตุผลที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ
ด้านสาธารณสุขนานัปการ อาทิ
๑. สภากาชาดไทย
๒. คนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์
๓. โครงการแพทย์และสาธารณสุขต่างๆตามพระราชดำริ
   - โครงการแพทย์หลวง
   - โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน
   - โครงการทันตกรรมพระราชทาน
   - โครงการศัลยแพทย์อาสา
   - โครงการแพทย์หู คอ จมูก
   - โครงการหมอหมู่บ้าน
   - โครงการแขนขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่
๔. ยาพระราชทาน
๕. การพระราชทานความช่วยเหลือแก่โรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข
๖. โครงการรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเป็นเวลาอย่างน้อย ๓ เดือน

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับการศิลปวัฒธรรม
          ผลงานทางด้านการส่งเสริมสนับสนุนปรับปรุงและให้การฝึกอบรมเกี่ยวกับศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและการธำรงรักษา ฟื้นฟูพัฒนาสร้างสรรคงานฝีมือประเภทต่างๆ อันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมทที่มีค่าของไทยไว้มิให้สูญหาย ผลงานที่มีความสําคญมากและมีคุณค่าแก่พสกนิกรชาวไทยอย่างเห็นได้ชัด คือ "โครงการศิลปาชีพพิเศษ" ที่พระองค์ได้ทรงสนับสนุนและให้ความสนพระราชหฤทัยติดตามแนะนำอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เป็นผลให้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational,scientific and Cultural Organization) หรือองค์การยูเนสโก (UNESCO) เห็นผลงานของพระองค์ได้มอบหมายให้นายเฟเดอริโก มายอร์ ผู้อำนวยการองค์การฯ เดินทางจากสำนักงานใหญ่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มาทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโบโรพุธโธ (UNESCO Borobudur Gold Medal Award) แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ในวโรกาสที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน "มรดกสิ่งทอของ เอเซีย : หัตถกรรมและอุตสาหกรรม" (Asian Textile Heritage : Craft and Industry) ณ ศาลาธรรม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ที่มาของโครงการศิลปาชีพพิเศษ
          
เพื่อเป็นการเสริมรายได้แก่ครอบครัวชาวนา ชาวไร่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นางสนองพระโอษฐ์เปิดการอบรมศิลปประดิษฐ์ที่หุบกระพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นแห่งแรก

และเมื่อทรงเห็นว่าได้ผลดี จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ข้าราชบริพารในพระองค์รับผิดชอบโครงการนี้เรียกว่า "โครงการศิลปาชีพพิเศษ" โครงการศิลปาชีพพิเศษ มีวัตถุประสงคหลักก็ คือ การส่งเสริมอาชีพเป็นรายได้พิเศษให้แก่ครอบครัวชาวนา ชาวไร่ ผู้มีรายได้น้อย

          นอกจากนี้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงส่งเสริมด้านการตลาดของสินค้าหัตถกรรมในโครงการศิลปาชีพด้วยการทรงฉลองพระองค์และทรงใช้ผลิตภัณฑ์ของโครงการตลอดเวลา โดยนำมาดัดแปลงให้เป็นรูปแบบที่ทันสมัย และเหมาะสมในแต่ละโอกาสและสถานที่ นอกจากนี้ทรงเผยแพร่ด้วยการจัดแฟชั่นและแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมท้งทรงนำผลิตภัณฑ์ต่างๆไปเผยแพร่ในต่างประเทศด้วยพระองค์เอง จนเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายรวดเร็ว

ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพพิเศษขึ้นเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านให้เป็นการเสริมรายได้พิเศษแก่เกษตรกร
          ต่อมาโดยพระราชดำริผ่าน ฯพณฯ องคมนตรีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร จึงได้มีการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ที่จะตั้งเป็นศูนย์ศิลปาชีพพิเศษขึ้น ฯพณฯ องคมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินต่างๆ เป็นสถานที่ก่อสร้าง และได้มีมติเห็นชอบร่วมกันว่า พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินของอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่เหมาะสมในการก่อสร้าง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงก่อตั้งโครงการศูนย์ศิลปาชีพพิเศษแห่งนี้
โดยมีวัตถุประสงค์ คือ
๑. เพื่อให้มีการประกอบอาชีพอย่างผสมผสานทั้งอาชีพทางการเกษตร และอาชีพทางการผลิตสินค้าประเภทศศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน
๒. เพื่อเพิ่มพูนเศษให้แก่เกษตรกร
 ๓. ช่วยขจัดปัญหาทางเศรษฐกิจของสังคม
 ๔. เพื่อปรับปรุงและกระจายสิทธิการยึดครองที่ดิน
 ๕. เพื่อให้เป็นศูนย์รวมและอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน จากทุกภาคของประเทศไทย

แผนกที่เปิดการฝึกอบรมรวมทั้งหมด ๒๒ แผนก
แผนกเขียนลายไทย                    แผนกสอดย่านลิเภา
แผนกจักสานไม้ไผ่ลายขิด           แผนกทอผ้าลายตีนจก
แผนกทอผ้าไหม                         แผนกตัดเย็บเสื้อผ้า
แผนกช่างไม้                            แผนกช่างเครื่องยนต์
แผนกปั้นตุ๊กตา-ดอกไม้ขนมปัง     แผนกปั้นและหล่อทองเหลือง, เรซิ่น
แผนกสานผักตบชวา                  แผนกช่างเครื่องหนัง
แผนกเครื่องเรือนหวาย               แผนกเป่าแก้ว
แผนกช่างสี                             แผนกเซรามิค
แผนกปักผ้า                             แผนกเกษตรกรรม
แผนกดอกไม้ประดิษฐ์                แผนกศิลปประดิษฐ์
แผนกช่างเชื่อม                        แผนกขนมไทย