น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ร.๙ แบบอย่างของความประหยัดและพอเพียง

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แบบอย่างของความประหยัดและพอเพียง

ในฐานะ ‘พระราชา’ จะใช้ชีวิตหรูหรามากแค่ไหนก็ได้ แต่นี่ไม่ใช่ สิ่งที่ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ทรงยึดถือปฏิบัติ พระองค์ คือ ต้นแบบของความพอเพียง “ไม่ต้องแพง” “ไม่ต้องหรูหรา” “แค่ใช้ประโยชน์ได้ ... ก็พอแล้ว” การกระทำสำคัญกว่าคำพูดใดๆ ... “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ไม่ได้แค่ตรัสสอนให้พวกเราฟัง แต่ทรงทำ .. ให้พวกเราเห็น ว่า “การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง” ของพระองค์นั้น ทำได้จริง และ เป็นการใช้ชีวิตที่มีความสุขได้เช่นกัน 

วันหนึ่งในหลวงเมื่อครั้งทรงพะเยาว์ ก็วิ่งมาบอกพระชนนีว่า "อยากได้จักรยาน เพื่อนๆ เขามีกัน" พระองค์ทรงเอ่ยกับพระชนนีด้วยแววตาใสซื่อ คนอื่นๆ อาจจะพาลูกไปซื้อเดี๋ยวนั้นแล้ว แต่พระชนนีกลับยิ้มให้ แล้วตอบกลับว่า "ลูกอยากได้จักรยาน ลูกต้องเก็บค่าขนมไว้สิ หยอดกระป๋องวันละเหรียญ ได้มากค่อยไปซื้อจักรยาน" ในหลวงได้ยินดังนั้นก็เชื่อฟัง หยอดเงินลงกระป๋องเล็กๆ ทุกๆ วัน

จนกระทั่งปีใหม่พระชนนีจึงบอกว่า "ปีใหม่แล้ว เราไปซื้อจักรยานกัน ดูซิว่าในกระป๋องมีเงินเท่าไหร่" สรุปแล้วในหลวงก็ได้จักรยานคันใหม่ด้วยเงินที่หยอดกระป๋องมา อันที่จริงแล้วเงินไม่พอซื้อจักรยาน แต่พระชนนีทรงแถมเงินให้ ซึ่งเยอะกว่าเงินในกระป๋องเสียอีก ที่ทรงทำเช่นนี้มิใช่ใจร้าย แต่ต้องการให้ลูกรู้จักอดออม รู้จักประหยัดและด้วยการอบรมสั่งสอนอย่างดีเยี่ยมนี้เอง ทำให้อุปนิสัยแห่งความประหยัดมัธยัสถ์และการวางพระอวงค์อย่างเรียบง่าย ส่งต่อมาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

นาย ศรไกร แน่นศรีนิล ช่างทำรองเท้า ได้เล่าว่า ฉลองพระบาทคู่โปรดของพระองค์ท่านนั้น เป็นรองเท้าหนังสีดำธรรมดา สภาพชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากการใช้งานหลายสิบปี ภายในรองเท้าผุกร่อนหลุดล่อนหลายแห่ง ซึ่งถ้าเป็นคนทั่วไป ก็อาจจะทิ้งไปแล้ว แต่พระองค์ท่านให้นำมาซ่อมเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่สามารถซ่อมได้แล้วจึงเปลี่ยนใหม่ 

ขณะที่ข้าราชบริพารใส่รองเท้าคู่ละ 3,000 – 4,000 บาท แต่เวลาพระองค์ทรงออกเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ห่างไกล ที่สุดแล้ว ข้าราชบริพารก็เดินตามพระองค์ไม่ทันอยู่ดี ... 

พระองค์ท่าน มักจะตรัสถึงสาเหตุที่ไม่จำเป็นต้องมีฉลองพระบาทมากมาย ว่า 
“เวลาเดิน คนเราใส่รองเท้าได้คู่เดียว”

คุณอนันต์ ร่มรื่นวาณิชกิจ ช่างดูแลรถยนต์พระที่นั่งเล่าว่า "ภายในรถยนต์พระที่นั่งเรียบง่ายมาก มีเพียงถังขยะเล็ก ๆ กับที่ทรงงานเท่านั้น ครั้งหนึ่งมีรถยนต์พระที่นั่งเพิ่งทรงใช้ในพระราชกรณียกิจมาทำ เห็นว่า พรมใต้รถมีน้ำแฉะขังอยู่และมีกลิ่นเหม็นด้วย แสดงว่า พระองค์ท่านทรงนำรถไปประกอบพระราชกรณียกิจในที่น้ำท่วม แถมน้ำยังซึมเข้าไปในรถพระที่นั่งด้วย จึงถามสารถีว่า ทำไมไม่รีบเอารถมาซ่อม ก็ได้คำตอบว่า ต้องรอให้เสร็จพระราชกรณียกิจก่อน ปกติถ้าทรงงานส่วนพระองค์ ท่านก็ใช้รถคันเล็กเพื่อประหยัดน้ำมัน และเมื่อเราสังเกตสีรถพระที่นั่ง จะเห็นว่ามีรอยสีถลอกรอบคันรถ กว่าที่ท่านจะนำมาทำสีใหม่ก็รอบคันแล้ว" “รถธรรมดา ... ของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่”

ภาพหลอดยาสีพระทนต์ที่ถูกใช้งานจนแบนเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ บริเวณคอหลอดมีรอยบุ๋มลึกลงไปเกือบถึงเกลียวคอหลอด ซึ่งเป็นผลจากการใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีดและกดจนเป็นรอยบุ๋มนี้เป็นภาพที่สื่อถึงพระจริยวัตรที่งดงามและประหยัดอดออมของในหลวง ร.9 ได้เป็นอย่างดี

ครั้งหนึ่งมหาดเล็กห้องสรง เห็นว่า ยาสีพระทนต์ของพระองค์คงใช้หมดแล้ว จึงได้นำหลอดใหม่มาเปลี่ยนให้แทน เมื่อพระองค์ทรงทราบ ก็ได้ขอให้นำยาสีพระทนต์หลอดเก่ามาคืน และพระองค์ท่านยังทรงสามารถใช้ต่อไปได้อีกถึง 5 วัน

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เล่าถึงนาฬิกาของในหลวง รัชกาลที่ 9 ไว้ว่า “เมื่อปี พ.ศ.2524 ครั้งหนึ่ง ผมพยายามจะแอบดูว่า พระองค์ท่านใส่นาฬิกายี่ห้ออะไร จนพระองค์ท่านรู้สึกได้ว่าผมพยายามอยากจะดูยี่ห้อ ท่านจึงยื่นข้อพระหัตถ์มาให้ดูตรงหน้า จึงทราบว่าพระองค์ ท่านใส่นาฬิการาคาเพียงเรือนละ 750 บาทเท่านั้น ซึ่งก็เดินเหมือนกันกับนาฬิกาเรือนแพง”

จากคลังภาพของในหลวง ร.9 ในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เผยให้เห็นว่า ‘นาฬิกา’ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในวันนั้น คือ นาฬิกายี่ห้อ Seiko SKJ045P นาฬิกาดำน้ำ Kinetic ตัวเรือนเป็นแบบไทเทเนียม ซึ่งถือว่าเป็น นาฬิกาในระดับธรรมดา เรียกภาษาชาวบ้าน คือ เป็นนาฬิกาใช้งาน ที่แสดงให้เห็นถึงความเรียบง่าย ความพอเพียง และความสมถะของพระองค์อย่างแท้จริง

คุณสมภพ หลุยลาภประเสริฐ ช่างตัดฉลองพระองค์ เคยกล่าวไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้ฉลองพระองค์ชุดเดิมมาเป็นเวลาหลายปี โปรดผ้าเนื้อนิ่ม ไม่โปรดผ้ายับง่าย ใช้ผ้าที่ทอในประเทศไทย กรณีที่ฉลองพระองค์ชำรุดเล็กๆ น้อยๆ พระองค์ท่านจะโปรดให้ชุนบ้าง เปลี่ยนยางยืดบ้าง ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ พระองค์ท่านจะไม่ตัดใหม่ บางชุดตัดมา ๘-๙ ปีแล้ว บางชุดที่พระองค์โปรดมากก็ใช้นานถึง ๑๒ ปี ส่วนใหญ่โปรดให้นำฉลองพระองค์เดิมมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ อย่างฉลองพระองค์ชุดบรรทมที่ทรงใช้แล้ว พอนานปีเข้ายางที่บั้นพระองค์ยืด ก็พระราชทานมาให้เปลี่ยนยางใหม่ โดยชุดที่พระองค์ท่านทรงโปรดที่สุด คือ ชุดลำลองที่ทรงสวมเพื่อเล่นกับคุณทองแดง ใช้มาหลายปีเป็นรอยขีดข่วนและฉีกขาด พระองค์ก็ไม่ทิ้ง ส่งให้นำกลับมาปะ ชุนบ่อยครั้ง

ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานในพื้นที่ต่างๆ แทบทุกภูมิภาคของประเทศ ของสิ่งหนึ่งที่จะทรงใช้จดเขียนบันทึกข้อมูลอยู่ตลอด คือ ดินสอไม้ธรรมดาๆ โดยมีบันทึกว่าในปีหนึ่งๆ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเบิกดินสอใช้เพียง ๑๒ แท่ง โดยทรงใช้ดินสอเดือนละ ๑ แท่งเท่านั้น และทรงใช้จนกระทั่งดินสอนั้นกุดจนใช้เขียนไม่ได้แล้วเสมอ ดินสอไม้ของพระองค์เป็นดินสอที่มียางลบติดอยู่ตรงปลาย เพื่อจะได้ลบคำที่เขียนผิดออกได้ง่าย ไม่เปลืองกระดาษเหมือนใช้ปากกา และจะทรงเหลาดินสอด้วยพระองค์เอง